14/10/53

ดื้อจัง!




เชื่อว่าคุณแม่หรือคุณพ่อทุกคนคงเคยเอ่ยคำนี้ อย่างน้อยที่สุดก็แว้ปในใจของคุณๆ บ้าง  น่าสงสัยไหมคะ คำว่า ดื้อ ของคุณพ่อคุณแม่แต่ละคนนั้นมีขอบเขตแค่ไหน  ผู้เขียนแอบสงสัยเมื่อได้ยินผู้ใหญ่บ่นว่าเด็กดื้อ แล้ว อะไรหรือใครคือบรรทัดฐานล่ะ?

โดยธรรมชาติเด็กมีพฤติกรรมซุกซนหรือเรียกว่าอยากรู้อยากเห็น สองคำนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ซน มักถูกนำมาใช้เมื่อเด็กมีพฤติกรรมแง่ลบ เล่นสนุกมากไป อยู่ไม่นิ่งจนเกิดเรื่อง อยากรู้อยากเห็น ถูกใช้ไปในเชิงบวก เด็กทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิมแตกต่างกันตามวัย  อยากรู้ลองโน่นนิดนี่หน่อยด้วยตนเองซึ่งเกิดจากแรงผลักภายในออกมาเป็นการพฤติกรรมที่กระตือรือร้นในการใฝ่รู้ แม้คนรอบข้างอาจจะสนุกหรือไม่ก็ตาม  
การสร้างเด็กด้วยวินัยเชิงบวกแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับมุสลิม การคิดบวกมองบวกเป็นเรื่องที่ศาสนาส่งเสริม ทำให้เราเป็นคนสุขุม ใจเย็น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราเอื้ออาทร ผู้เขียนจึงอยากนำมาชิมลาง (ด้วยเนื้อที่จำกัด) เผื่อผู้อ่านจะนำไปปรับใช้รับมือสมาชิกน้อยๆ รอบบ้านกันค่ะ การสร้างวินัยที่ว่านี้จะเลี่ยงการใช้คำพูดแง่ลบ ลืมเรื่องดุด่าว่ากล่าวกันได้เลย ไม่มีการลงโทษทั้งร่างกายและจิตใจต่อเด็ก ข้อดีของการฝึกวินัยเชิงบวก คือการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ สังคมของเด็ก และการจัดการกับพฤติกรรมของเด็กด้วยกลวิธีที่เน้นให้เด็กเข้าใจตนเอง เรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่ตนเองทำนั้น เกิดผลเสียอะไร ส่งผลกระทบอย่างไร แล้วหาทางแก้ไขอย่างสมเหตุผล เป็นการสร้างแรงกระตุ้นภายในให้เด็กปรับปรุงพฤติกรรมตนเองในระยะยาวมากกว่าที่ผู้ปกครองจะใช้อำนาจสั่งให้ทำซึ่งก็ทำแค่เฉพาะหน้า เราไม่อาจตามไปสอนตลอดชีวิต พาลจะเสียพลังงานร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกและเวลาที่สูญไปกับการจัดการไม่ถูกวิธี ทำให้เสียความรู้สึกทั้งครอบครัว  เหนื่อยทั้งวันนี้และอนาคต 
จริงอยู่...เป็นเรื่องยากค่ะ ที่ผู้ปกครองจะพูดกับลูกอย่างใจเย็นเมื่อเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม  เรื่องแบบนี้ต้องฝึกหัดกันแล้วล่ะ ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเด็กที่ทำผิดด้วยความไม่รู้ เราจะรู้สึกอย่างไร เมื่อถูกตีด้วยอารมณ์ ดุไม่มีเหตุผล พาลจะเป็นเด็กขี้กลัวเสียอีก หรือเด็กอาจจะรู้ว่าไม่ควรทำแต่ว่าต่อต้านผู้ใหญ่ก็เลยทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม ของแบบนี้ต้องกลับมามองที่ผู้ใหญ่ตัวโตแล้วล่ะคะ เข้าใจวัยของเด็กมากน้อยแค่ไหน แล้วจัดการพฤติกรรมเหล่านี้อย่างไร คงต้องย้อนถามตนเองบ่อยๆ ไม่ฝึกแก้ไขตอนนี้จะรอเมื่อไหร่ 
ผู้เขียนเคยใช้คำว่า ดื้อ กับลูกวัย 4-5 ขวบ และบอกด้วยว่า ดื้อคือการไม่เชื่อฟังอย่างไม่มีเหตุผลหรือเหตุผลไม่มีน้ำหนักพอ เช่น ใช้ในกรณีที่เขาไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺ ไม่ละหมาด พร้อมอธิบายข้อดีข้อเสียของการไม่ละหมาด (พื้นฐานลูกเข้าใจเรื่องนรกสวรรค์ จึงอยากขึ้นสวรรค์)   ประเดี๋ยวเดียวลูกก็ละหมาดโดยพร้อมใจไม่ต้องทะเลาะให้เหนื่อย แค่อธิบายเสริม จะละหมาดช้าหน่อย ละหมาดเองก็ผ่อนปรนได้  หรือ กรณีเมื่อลูกอารมณ์ไม่ดีก็ควรแยกลูกออกมาก่อน อาจจะโอบกอดให้เขารับรู้ว่าอารมณ์เขาเป็นแบบนี้ชัยฏอนกำลังเป่าหู  ลูกค่ะ ลูกรัก เรามากล่าวขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ผู้สร้างเรากันดีกว่า ตอนนี้ลูกกำลังถูกมันรังควานนะ เราไปอาบน้ำละหมาดกัน หรือให้นั่งแยกตัวเงียบๆ ก่อน หากเด็กยังอาบน้ำละหมาดไม่เป็น อาจบอกว่า  ลูกจ๋า ลูกเด็กดีของอัลลอฮฺ เมื่อพร้อมแล้วให้มาคุยกับแม่ได้ แม่รออยู่ตรงนี้นะจ๊ะ  บอกให้ชัดเจนด้วยว่าพร้อมคืออะไร เช่น เมื่อลูกหยุดร้องไห้ เป็นต้น 

ตัวอย่างเล็กน้อยที่นำมาเล่าสู่ค่ะ การอบรมเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากบ้างง่ายบ้างก็สามารถฝึกฝน เรียนรู้กันไปพร้อมกัน พ่อแม่ที่มีลูกมื่อเก่าหลายคนยังต้องเรียนรู้ลับคมกันตลอด เด็กแต่ละคนมีอุปนิสัยเฉพาะตัว เด็กๆ เขาฉลาด ไม่เพียงแต่ทำตามคำอบรมสั่งสอนเท่านั้นแต่ยังจดจำพฤติกรรมจากผู้ปกครองมากกว่า หากปากสอนแต่พ่อแม่ไม่ทำ..ยังไง๊ ยังไงก็ไม่ได้ผล เด็กก็ไม่มีพฤติกรรมเชิงบวก  อย่างลักษณะนิสัยที่ซึมซับจากผู้ปกครองโดยไม่รู้ตัว เช่น วิธีการรับมือกับปัญหา การมองโลก กริยามารยาท ความสุภาพ ความมีน้ำใจช่วยเหลือ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องเอาใส่ใจอย่างพิถีพิถัน อยากให้ลูกดีแบบไหน พ่อแม่ก็ต้องดียิ่งกว่า 
เรื่องที่พลาดไม่ได้คือ การวิงวอนขอความช่วยเหลือจากผู้สร้างนั้นคือหนทางที่ดีที่สุดในการปรับแก้ทุกปัญหา แม้สถานะของการเป็นพ่อแม่ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่ทุกคนก็น่าจะมีสัญชาตญาณของความเป็นพ่อแม่ที่รักและปรารถนาดีต่อลูก จริงไหมคะ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บอกเล่าเก้าสิบคิดเห็นอย่างไรมาแบ่งกันเถอะ