24/11/53

ความคิด => ผังความคิด


ผู้เขียนได้ยินเสียงบ่นจากรอบข้างว่าเวลาคิดอะไรมักขี้ลืมและไม่ค่อยรอบคอบ เลยลองแนะนำวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คุณผู้อ่านลองมาดูไปพร้อมกันเลยนะคะว่าจะช่วยได้จริงไหม?  
บางท่านอาจเคยได้ยินคำว่า Mind Map หรือ ผังความคิด มันเป็นทฤษฎีในการนำเอาสมองมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ คิดขึ้นโดยโทนี บูซาน (Tony Buzan) นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ทฤษฎีนี้ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างอิสระ สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ด้วยการจดบันทึกด้วยสมองสองซีก จะใช้ในการทำงาน  การเรียน สามารถปลดปล่อยความคิดลงไปในกระดาษได้เต็มที่ หรือใช้แทนการจดเล็กเชอร์แบบเดิมที่น่าเบื่อแถมยังจดจำได้เพียงระยะสั้น
แผนผังความคิดจะเขียนลงบนกระดาษว่างจากจุดศูนย์กลาง กระจายเป็นรูปดาวคล้ายการแตกกิ่งก้านของต้นไม้ (การแตกของเส้นเซลล์สมอง) ในการเขียนแผนผังความคิดจะใช้ภาพประกอบง่ายๆ  คำสำคัญเป็นคำมูลสั้นๆ แถมใช้สีสันช่วยเพื่อให้จดจำได้ง่ายขึ้น  ในปัจจุบันมีทางลัดในการสร้างผังความคิดโดยการใช้ทูลหรือซอฟต์แวร์ช่วยข้อดีของการใช้ซอฟต์แวร์คือสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้อย่างอิสระค่ะ
ข้อดีของผังความคิด
o       ช่วยจดบันทึกทำให้สิ่งต่างๆ มองภาพได้ง่ายขึ้น เช่น สรุปบทเรียน หรือจับจินตนาการมาใส่กระดาษ
o       สร้างจากสิ่งที่เป็นนามธรรมสู่รูปธรรม
o       ช่วยในการเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ ของมนุษย
o       ใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
o       ใช้ในการทำการตัดสินใจกรณีมีทางเลือกหลายๆ ทาง
แล้วถ้าจะเขียน Mind Map ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
o       กระดาษเปล่าๆ 1 ใบ ไม่มีเส้นจะดีที่สุด ขนาดอย่างน้อยเท่า A4 หรือใหญ่กว่า
o       ปากกาหลากสี หรือปากกาลูกลื่นหลายสี  อย่างน้อย 3 สี
o       หัวสมองของคุณ และจินตนาการ หรือความคิดของคุณ
การเตรียมอุปกรณ์ไม่ยุ่งยากอะไร คราวนี้เรามาลองดูขั้นตอนกันค่ะ ว่าจะมีประสิทธิภาพในการย่อเวลา ย่อความคิดสู่กระดาษได้อย่างชัดเจนอย่างไร
ขั้นตอนวิธีในการเขียน Mind Map
๑)     เริ่มวาดแก่นแกน ที่จุดกึ่งกลางของกระดาษ ขนาดเท่าเหรียญสิบสำหรับกระดาษ A4  หากกระดาษใหญ่กว่า ภาพกึ่งกลางใหญ่กว่านั้นได้  เพราะว่าการเริ่มต้นที่จุดกึ่งกลางจะทำให้สมองของเราเป็นอิสระ  พร้อมที่แตกหน่อความคิดออกไปยังทุกทิศทาง
๒)     ใช้สีหลากสีสัน  สีสันจะทำให้แม็พของพวกเราดูมีชีวิตชีวาน่าอ่านมากยิ่งขึ้น
๓)    วาดกิ่งแก้ว ออกมาจากภาพตรงกลางแล้วแตกกิ่งก้อยออกมาตามที่สมองเราจะคิดได้
ต้องให้เส้นเชื่อมต่อกันเพราะว่าสมองของมนุษย์ทำงานแบบเชื่อมโยงเข้าหากัน
๔)      วาดกิ่งก้อย ที่แยกออกมาจากกิ่งแก้ว เป็นส่วนที่เป็นส่วนย่อยของกิ่งแก้ว (คุณผู้อ่านลองดูจากภาพประกอบนะคะ น่าจะเห็นชัดขึ้น)
ความจริงรายละเอียดยังมีอีกมากแต่เนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด  แนะนำว่าผู้ที่สนใจควรไปศึกษาเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ตหรือหาหนังสือ mind map มาอ่านกัน  ลองคิดตามตัวอย่างภาพที่ถูกต้องตามกฎ mind map ไปพลางๆ ก่อน  แต่บอกไว้ก่อนว่าควรจะมีการทำความเข้าใจอย่างดีเพราะมันมีผังอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันทำให้เกิดความเข้าใจผิดนำไปใช้แบบไม่เข้าใจ เสียหายถึงต้นตำรับเลยก็มีค่ะ แล้วจะมาโทษว่า mind map เขาไม่ดีจริงได้อย่างไร ลองมาพิสูจน์ด้วยตัวคุณๆ เองนะคะ
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บอกเล่าเก้าสิบคิดเห็นอย่างไรมาแบ่งกันเถอะ