23/12/53

ความสุขของแม่



โดย : อินทผลัม

เมื่อบรรดาคุณแม่ๆ มาพูดคุยสับเพเหระในเรื่องความสุขของคนเป็นแม่ ประกันได้เลยค่ะว่า 99% (อีก 1%เหลือไว้งั้นแหละ) จะเอ่ยถึงเรื่องของลูกคนที่เราตกหลุมรักเค้าตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นหน้า คาดการว่าหนึ่งในนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เมื่อลูกเติบโตแล้วเป็นมุสลิมที่ดี พ่อแม่คงเอมใจล้นปรี่เมื่อผลิตผลเป็นคนดีในสังคม คงต้องย้อนกลับไปที่วิธีการเลี้ยงดูตลอดจนการดุอาอฺวิงวอนจากเจ้าของชีวิตอย่างไร พระองค์จึงทรงจัดวางให้ลุล่วงสำเร็จอย่างนี้
คุณแม่มือใหม่หลายท่านมักใช้สัญชาตญาณความเป็นแม่บวกกับวิธีเปิดตำราเลี้ยงลูก ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่มีผู้ช่วย  กฎบัญญัติการเลี้ยงดูลูกแบบอิสลามไม่มีเป็นหลักพื้นฐานขนาดว่าไม่ทำตามแล้วตกศาสนา แต่ถ้าทำแล้วจะเกิดผลดีรอบตัว ยังเป็นการเจริญแบบอย่างจากท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัมที่ได้สอนสั่ง ได้ทำตามอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลาบัญชาลงมาในอัลกุรอาน ตัวอย่างเช่น ควรสอนลูกละหมาดในวัย  7 ขวบ เมื่อ 10 ขวบลูกก็ต้องละหมาดเป็น หากไม่ทำก็ตีได้ หรือเรื่องการแยกที่นอนของลูกชายเพราะเด็กเริ่มโต เป็นต้น น่าปลาบปลื้มที่ผู้สร้างได้บัญชาใช้ให้บ่าวของพระองค์เอาใจใส่ในเรื่องที่คนเรามักมองว่าขี้ประติ๋ว เพราะเนื้อแท้มันเป็นฐานชีวิตผู้ศรัทธาในการเรียนรู้เรื่องละหมาดซึ่งขาดไม่ได้ในชีวิตแม้แต่น้อย หรือการแยกที่นอนก็เพื่อให้ตระหนักถึงเพศของตนเองเพื่อรู้จักระมัดระวังการวางตัวให้เหมาะสม แยกแยะให้ถูกเพศ  แม้ปัจจุบันมีหนังสือแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยอิสลามวางขายให้พี่น้องได้เลือกสรรอยู่หลายเล่ม  มุ่งเน้นตั้งแต่วิธีอบรมขัดเกลาคุณๆ ตัวน้อย การวางตัวของผู้อบรม  ผู้คนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่ออนาคตอุมมะฮฺที่ดี แต่ยังต้องอาศัยเรียนรู้ พูดคุยผ่านผู้มีประสบการณ์ตรงหลายรุ่นหลายวัย เพราะทฤษฎีบางครั้งก็ใช้ไม่ค่อยได้ผลกับเด็กบางคน
                เกือบหกปีที่ผู้เขียนมีประสบการณ์อันน้อยนิดเหลือเกินในการรับมือลูกๆ ไม่ว่าจากการเปิดตำราหรือเลี้ยงลูกด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดทำให้ได้เรียนรู้ลองผิดลองถูกเพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีพิมพ์เขียวติดตัวมาคนละฉบับ จึงได้พบว่าควรมีหลักทั่วไปในการเลี้ยงดูบ้าง วันนี้ลองนำมาเล่าสู่กันเล็กน้อยค่ะ
1. การสอนลูกต้องเข้าใจง่าย สม่ำเสมอ
                เราต้องพูดง่ายๆ ถ้าไปสอนเรื่องที่เป็นนามธรรมมากเกินไปเด็กจะไม่เข้าใจ เกิดเบื่อไม่อยากฟัง เช่น สอนลูกสาวเรื่องการวางตัวสงวนตัว ลูกสาวคนโตวันหกขวบอาจยังไม่เข้าใจนัก แต่ด้วยการปูพื้นฐานพูดคุยเรื่องนี้มาตลอด ชักชวนพูดคุยกันเรื่อยๆ สม่ำเสมอให้เกิดความเคยชิน เด็กซึมซับได้ง่าย ระมัดระวังตนเองไม่ใกล้เพศตรงข้ามที่ไม่คุ้น ไม่อยากจับมือสลามผู้ชายอื่น ลูกเคยสงสัยถามเรื่องการแต่งกายของสาวทั่วไป นอกจากจะคุยกันถึงพิษภัยจากการแต่งกึ่งเปิดกึ่งปิดแล้ว ยังเสริมให้เด็กเชื่อมั่นในหลักการอิสลามว่าดีที่สุด เหมาะสมสุดๆ กับมนุษย์ผู้ถูกสร้าง เพราะถ้าการแต่งกายแบบนั้นดีจริง อัลลอฮฺต้องให้มุสลิมะฮฺแต่งกายแบบนั้นแน่นอน แล้วลองวาดภาพในหัวดูว่า ถ้ามุสลิมะฮฺแต่งกายแบบนั้นมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ยามไปละหมาดหรือเข้ามัสยิด คงต้องหอบข้าวของพะรุงพะรัง ไม่น่าดูยามเข้าไปศาสนสถานที่ที่ควรสำรวมตน  
2. ส่งเสริมเรื่องการอ่าน
เพราะการอ่านเป็นหัวใจหลักของชีวิตผู้ศรัทธา นอกจากทำให้ลูกมีความรู้ ฉลาดรู้ทันคนแล้ว ลูกยังได้ใช้ในการเผยแผ่อิสลามได้ในอนาคต ต้องสอนให้เด็กเห็นความสำคัญของการดะอฺวะฮฺด้วย การอ่านหนังสือหรืออัลกุรอานตั้งแต่ลูกอ่านหนังสือไม่ออก ใช้ภาษาง่าย ลูกจะคุ้นกับตัวอักษร แถมจดจำข้อมูลนานาได้อย่างแม่นทั้งประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ต่างๆ สำคัญแล้ว ความรู้ในอิสลามเหล่านี้ได้บอกกล่าวเราแล้วผ่านอัลกุรอาน เด็กๆ จะปฏิบัติตัวสอดคล้องกับหลักการแล้วยังได้เข้าใจเบื้องลึกมากขึ้น อาจตั้งคำถามให้เด็กฝึกคิด หากเจอเหตุการณ์อย่างนั้นบ้างจะทำอย่างไร ก็เป็นการสานต่อความคิดจินตนาการได้อีกขั้น ส่วนความรู้ทั่วไปก็ค่อยเสริมต่อตามไปไม่เสียหลาย  
3. สอนลูกไม่ให้ดูถูกผู้อื่นแม้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิมและให้มีความหวังดีต่อกัน
การอบรมใกล้ชิดลูกทำให้เรามีโอกาสพูดคุยกับลูกตลอด เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือต่างที่ ก็ควรฉวยโอกาสสอนลูกทีละเล็กๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การได้เจอคนแตกต่างจากเราในสังคมก็อย่าให้ลูกได้ดูถูกเค้าว่าเค้าไม่ดีไม่เป็นมุสลิม แต่ควรสอนให้คิดถึงสาเหตุที่เค้ายังไม่เป็นมุสลิม เค้าอาจไม่รู้จักอัลลอฮฺ ไม่รู้จักอิสลาม แล้วเราจะช่วยเค้าอย่างไร พยายามกระตุ้นให้เด็กมุ่งมั่นว่า ควรสะสมความรู้อิสลามมากๆ เพื่อมาแนะนำคนที่เค้ายังไม่ใช่มุสลิมให้เค้ารู้จักอัลลอฮฺ หรือการสร้างมิตรภาพที่ดีกับคนตามท้องถนน แม่ค้า คนกวาดถนน แม่บ้านก็ควรให้ลูกเรียกอย่างเกียรติ มีหางเสียง ให้เด็กมองว่าอาชีพเหล่านี้ ถ้าเราไม่มีเค้าจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองจะสกปรกแค่ไหน ลูกก็ได้ใช้เหตุผลไปในตัว
4. รู้จักเล่นกับลูก
เด็กกับของเล่นเป็นของคู่กัน คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่าเล่นที่ดีที่สุดของลูกคืออะไร คือพ่อแม่นั่นเองค่ะ เพราะนอกจากเป็นสิ่งมีชีวิตที่โต้ตอบพวกเค้าได้สารพัดแล้ว ยังสร้างความสนิทสนม รู้จักกระเซ้าเย้าแหย่กันสร้างบรรยากาศรักใคร่อันอบอุ่น เรื่องของเล่น หรือการเล่นเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะรูปแบบการเล่นของลูกจะส่งผลต่อการเติบโตของลูกทั้งชีวิตได้เลยทีเดียว แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกเหนือจากความรู้เรื่องการเล่นกับพัฒนาการตามวัยแล้ว ควรจะเน้นถึงเรื่องการส่งเสริมทักษะชีวิตของลูกผ่านการเล่นด้วย การเล่นของผู้ใหญ่จะไปช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้แก่ลูกต่อไป เพราะขณะที่กำลังเล่นกัน พ่อแม่สามารถสอดแทรกเรื่องราวดีๆ ที่ต้องการปลูกฝังให้แก่ลูกได้มากมาย
                ยกตัวอย่าง เมื่อคุณเล่นแต่งตัวตุ๊กตากับลูกสาว นอกจากสอนลูกในเรื่องการแต่งกายเหมาะสมตามหลักการแล้วยังสอดแทรกเรื่องการแต่งกายแบบไหนที่ไม่เหมาะสม แล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นลูกชายอาจเป็นการเล่นรถ ตรวจเช็คสภาพก่อนเดินทางไปไหน  ทำให้เห็นจากสถานการณ์จริงแทรกเรื่องความปลอดภัยเข้าไปด้วยไม่เช่นนั้นอาจเกิดอันตรายประสบอุบัติเหตุได้ ลูกจะรู้จักเตือนเวลาพ่อขับรถ เป็นต้น
รวมไปถึงของเล่นที่มีทั้งปลายปิดและปลายเปิด แบบปลายปิดก็คือ ของเล่นที่มีคำตอบเพียงคำตอบเดียว เช่น โดมิโน หรือจิ๊กซอว์ ส่วนของเล่นแบบปลายเปิดก็คือแบบที่ใช้จินตนาการของตนเอง เช่น การต่อบล็อกเป็นรูปต่างๆ ตามความต้องการของเด็ก ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยช่วงเวลาสำคัญของลูกให้ผ่านเลยไป โดยที่พ่อแม่ไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูก เรื่องเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เรื่องเล่นจะกลายเป็นการสร้างทักษะชีวิตให้ลูกได้อย่างน่าทึ่ง
4 ประการนี้ เป็นคำแนะนำเบื้องต้นเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจสร้างความสุขของผู้เป็นแม่โดยมีลูกเป็นเครื่องมือสร้างความสุขบนโลกใบย่อมนี้และเป็นความสุขถาวรบนโลกอันจีรัง อินชาอัลลอฮฺ ประการสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือการวอนขอดุอาอฺจากผู้ทรงกำหนด แม้หลายอย่างอาจเป็นไปอย่างไม่ดั่งใจเราแต่ก็สามารถแปรเปลี่ยนได้ด้วยดุอาอฺของพ่อแม่ ตราบใดลมหายใจไม่สิ้น อะมานะฮฺที่ต้องรับผิดชอบดูแลของฝากจากอัลลอฮฺก็ยังไม่จบเช่นกัน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บอกเล่าเก้าสิบคิดเห็นอย่างไรมาแบ่งกันเถอะ