27/8/53

เราะมะฎอนของเด็ก 5 ขวบ

ก้าวสู่เราะมะฎอน 1431 ได้สิบกว่าวันแล้ว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
นี่เป็น เราะมะฎอนแรกของฉัน
เปล่า หรอก..ฉันไม่ใช่มุสลิมใหม่
แต่หมายถึง เราะมะฎอนแรกที่ฉันได้รับตำแหน่งสูงขึ้นพร้อมกับความเสี่ยงไปพร้อมกัน
เสี่ยง ที่จะเข้าไฟนรกได้มากขึ้น หากไม่ทำหน้าที่รักษาอมานะฮ (ของฝากจากอัลลอฮฺ) ให้ดี
ริสกียฺจากพระองค์เบอร์ล่าสุด มีอายุไม่กี่เดือน อาหารหลักจึงเป็นนมแม่เพียงอย่างเดียว
ส่วนคนก่อนหน้าก็ประสบเราะมะฎอนอย่างต่ำก็ 2-5 ครั้งแล้ว

ก่อนเข้าสู่เราะมะฎอน ฉันได้ฟังถามตอบปัญหาเกี่ยวกับเราะมะฎอน
เหมือน พี่น้องหลายคนก็ตระเตรียมตัวกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ทั้งเพื่อให้แน่นหนักในอิบาดะฮฺและ
หนัก แน่นในความหวัง โอกาสที่จะได้รับการอภัยจากผู้สร้าง
คำถามมีร้อยแปด ตั้งแต่การเตรียมตัวเตรียมใจจนกระทั่งการออกซะกาตฟิฎริ ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดเราะมะฎอน
คำถามที่น่าจะเกี่ยวข้องกับบทบาทของ ฉันก็ไม่พ้นเรื่องแม่ๆกับการถือศีลอด แม่ตั้งครรภ์ แม่ให้นมลูก การฝึกลูกถือศีลอด ประมาณนี้

ฉันไม่ค่อยกังวลอะไร จะทำตามความสามารถให้เต็มที่ แต่ก็ไม่ลืมที่จะขอดุอาอฺให้เจ้าของชีวิตช่วยเหลือ
มันอาจเกิดในเรื่องที่เราไม่คาดคิด เพื่อนหลายคนต้องประสบความอ่อนล้า อ่อนแรงจากการให้นม
หรือตั้งครรภ์ ซึ่งเราอาจไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็ต้องตระเตรียมหัวใจให้ดีกับเราะมะฎอน
เพราะทุกคนหวังว่าจะทำอามั้ลให้มาก แต่เมื่อถึงเวลาอาจจะไม่เต็มที่
เหมือนอย่างที่ตั้งใจ ก็ต้องยอมรับทำใจและปรับเปลี่ยนตามความสามารถ
เวลาโอกาสเท่าที่จะเอื้อ ฯลฯ ตัวแปรต่างๆ มากระทบบดบังก็มากขึ้นพัลวัน
อย่าให้จิตใจที่ไม่เบิกบาน ทำให้หัวใจคนรอบข้างหดหู่ไปด้วย
(ที่เล่ามาแบบนี้ อย่าเพิ่งกลัวเรื่องการมีครอบครัว
แต่อยากให้ตระเตรียมตัว ตักตวงให้มากเข้าไว้ยามยังสาวๆ แส้ๆ)

นับว่าในช่วงสิบวันแรกผ่านไปแล้ว อัลฮัมดุลิลลาฮ สภาพร่างกาย(โอ)
สภาพ จิตใจ..ตัวดี ไหนจะอิบาดะฮฺพรั่งพรูที่หวังอยากทำให้มาก
กอปรกับการ จัดการเจ้าริสกี ยน้อยๆ ทั้งสาม อืม...ตัวแปรหลายระดับ
หลายกระบวนท่าที่ ต้องงัดมาใช้ ทั้งท่าไม้ตาย ไม้เด็ด ไม้ใบ ไม้ดอก
อาจทำให้อ่อนระเหี่ย เมื่อเปรียบกับ ปีก่อนๆ หรือเมื่อเทียบกับพี่น้องคนอื่น
ทำไม๊..ทำไม เราทำได้น้อยนิดเสียจริง


ยามจะอ่านอัลกุรอาน ..ลูกร้องๆๆหม่ำๆ>>>ก็อุมมี
อ่านไปได้ไม่กี่มาน้อย >>>ก็อุมมีอีก
เฮ่อ..เสร็จซะที จะอ่านต่อแล้วนะ..
ลูกเบอร์ หนึ่งเบอร์สองเริ่มมีปาก เสียงกัน>>>เรียกหาอุมมี
เจ้าเบอร์สอง โห้ยๆ..หิ๊วๆ...ก็อุมมี บ้าง อบีบ้าง
สายๆ กลางวัน จัดการงานบ้านงานช่อง คุณสารมีก็ช่วยสุดฤทธิ์
จัดการ เรื่องเรียนๆ เล่นๆ ในบ้านเรียน สรรค์สร้างงานสารพัน(รกบ้าน)
บ่ายๆ เย็นๆ ลงครัวทำอาหารบ้าง ดูร้านขายของ
สมาชิกคนนึงบ่นหิวไปขณะถือศีลอดด้วย>อุมมีวิ่งโร่สรรหา กลยุทธ์ให้ลืม
ของ เล่น กิจกรรมนานา อาทิ ทำการฝีมือ พับกระดาษ ระบายสี
งัดออกมาให้หมด ชวนอาบน้ำเพื่อให้กายสบาย จิตใจก็จะได้สบายอินชาอัลลอฮฺ
แต่ก็ยังมีอาการที่เด็กมักเป็น(ผู้ใหญ่ยังเป็นได้เลย) อารมณ์เข้ามานำทั้งโกรธ ฉุน แย่งของน้อง โวยน้องนุ่ง จนอุมมีบอกว่า "ไม่ต้องถือศีลอดก็ได้ ถ้ายังทำแบบนี้
เพราะเเทนที่ได้จะบุญ เดี๋ยวจะได้บาปปล่าวๆ อุมมีไม่อยากให้มีสภาพแบบนี้
 แล้วทำไงดีที่จะเปลี่ยนความหิวที่ทรมานให้เป็นความสุขที่ได้หิวเพื่ออัลลอฮฺ
กระหายเพื่ออัลลอฮฺล่ะ"
สงสัยจะเก็บไปคิด

(เรื่องเด็กอารณ์บูดๆเบี้ยวๆอาจเกิดได้มากกว่าหนึ่่งครั้ง
เมื่อถือศีลอด ฉะนั้น กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ควรใช้ประโยคที่ค่อนแคะ บั่นทอนให้เค้ารู้สึกว่าทำไม่ได้
เป็นเรื่องน่าอาย แต่ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องพยายามสู้กับตนเองให้ได้ ย้ำกับพวกเค้าว่า..
"แล้วอัลลอฮฺจะช่วยเหลือหนู เมื่อหนูขอความช่วยเหลือจากพระองค์นะ..จำไว้ให้ดี"

รู้สึกหิวข้าวเมื่อไหร่ก็ดุอาอฺ
รู้สึกหิวน้ำเมื่อไหร่ก็ดุอาอฺ
รู้สึกว่าจะโกรธง่าย อารมณ์บ่จอยเมื่อไหร่ก็ดุอาอฺ
ขอทุกครั้ง ขอตลอด หัดให้เด็กขอความช่วยเหลือ พึ่งพาอัลลอฮฺเป็นเรืองดี



อุมมีเรื่องเยอะ เดี๋ยวภารกิจโน่นนี่เข้ามา ประเดี๋ยวก็หมดแรง
กลายเป็นการงานอามั้ล น้อยเพราะเหนื่อยล้าเป็นข้ออ้างหรือเปล่า
หรือผสมนัฟซูส่วนบุคคล(ขี้เกียจเอย ง่วงเอย) หรือเปล่านะ น่าคิด?

ว่ากันต่อเรื่องตัวน้อยๆ
อาทิตย์แรก สมาชิก 1 ใน 3 ก็ได้รับนโยบายครึ่งแรกครึ่งหลัง (ข้าวสะฮูรเธอทานพร้อมผู้ใหญ่อยู่แล้ว)
คือ ละศีลอดตอนอาซานซุหฺริแล้วถือต่อจนมัฆริบ ก่อนเวลามั่ง
เราก็หยวนๆ ปลอบประโลมหัวใจและให้กำลังใจ
ไม่ได้บังคับนะ แค่บอกว่าให้ฝึกไปก่อน เดี๋ยวก็ได้อัลลอฮฺเจ้าของชีวิตเราเนี่ยแหละจะช่วยเหลือ
ไม่ซีเรียสอะไร แต่แค่บอกบางทีนะอย่างน้อยเราะมะฎอนนี้อาจจะได้เต็มวันก็ได้ ไม่น่าภูมิใจหรอ
ไม่คะยั้นคะยออะไร แค่บอกว่าเราะมะฎอนนี้เราทุกคนต้องดีขึ้นนะคะ อัลลอฮฺจะช่วยให้เราทำได้ดีกว่าปีก่อนๆ

ให้ดุอาอฺมากๆ ขอแบบนี้ก็ได้นะ
"อัลลอฮฺผู้เกรียงไกร อัลลอฮฺที่รักของหนู อัลลอฮฺจ๋า...ขอให้ช่วย.." อย่างนั้นอย่างนี้
อาทิตย์ต่อมาเธอใจสู้ ไม่บ่นเลยเผลอแป๊บเดียวละศีลอดพร้อมผู้ใหญ่เฉยเลย
น่า นับถือ (เธออายุ 5 ขวบกว่าๆ เท่านั้น) เก่งกว่าอุมมี อบีเป็นไหนๆ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
นี่ก็ได้สามวันเต็มๆ ที่ถือได้แบบผู้ใหญ่ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
นับเป็นข่าวดีของครอบครัวที่ได้รับประสบการณ์น่าสุดซึ้ง
ความเมตตามากมายที่มีต่อบ่าวตัวน้อยๆ น่าปลาบปลื้มยิ่งนัก
อุมมี ถามว่าลูกถือศีลอดได้เหมือนผู้ใหญ่เลย..ทำได้ไง

"อัลลอฮฺช่วยหนู หนูทำเองไม่ได้" ต่อด้วย ถามจริงๆ หิวรึเปล่า
"หิววววว....แต่ก็อดทนค่ะ"

เพราะพระองค์ก็ได้บอกแล้วถึงความเมตตาที่จะมีแก่บ่าวผู้ศรัทธา
พระองค์ได้ให้พลังกายพลังใจแก่บ่าวของพระองค์
เราะมะฎอน นี้ฉันประทับใจกับสมาชิกน้อยๆ อย่างมากที่อึดขึ้น
มีความอดทนอดกลั้นขึ้น และพยายามควบคุมความรู้สึกหิวกระหาย
ยังมีอะไรมากมายให้ มุสลิมตัวน้อยๆ คนนี้ เรียนรู้ ฝึกฝน

หน้าที่ของฉันมิใช่แค่เราะมะฎอน
แต่มันยิ่งหนักหนาในตราชูทั้งด้าน ซ้าย และขวา อยู่ที่ว่าเราทำเพื่อใคร
แล้วพี่ๆ น้องๆ น้าๆ ป้าๆ คุณผู้ใหญ่ทั้งหลายล่ะคะ
ได้เรียนรู้ อะไรบ้างในเราะมะฎอนนี้
เราะมะฎอนนี้มีสิ่งใหม่ในหัวใจอะไรบ้างรึยัง?

ฉันอยากให้ความจำเริญของเราะมะฎอนอยู่กับเราแบบนี้ทุกวันจัง
คงดีไม่น้อยที่ เรานึกถึงแต่เจ้าของหัวใจเรา
เจ้าของที่จะเรียกมันกลับเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่พระองค์ประสงค์
เมื่อไหร่ก็ตามที่..เราไม่มีวันล่วงรู้..
รู้แต่หน้าที่ ณ ตอนนี้ คือการทำให้หัวใจได้เข้าใกล้เจ้าของหัวใจที่แท้จริงกันดีกว่า

แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับจากหมู่ผู้มีความยำเกรงเท่านั้น (อัล-มาอิดะฮฺ 5:27)

((บทความนี้ มิได้มีเจตนาใดแฝง แค่อยากให้กำลังใจทุกท่านในการฝึกฝนบุตรหลานในการถือศีลอด ทำไม่ได้ ก็อย่าซ้ำเติม ทำได้บ้างก็อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ไม่ได้บ้างก็ก็อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เป็นปกติของเด็กๆ ความอดทนอดกลั้น วุฒิภาวะยังน้อยอยู่ การดุว่ารังแต่จะทำร้ายหัวใจดวงน้อยๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่จงให้กำลังใจเด็กๆ ในการต่อสู้ ฝึกฝนเพื่อวันข้างหน้าจะทำได้ดียิ่งขึ้น ฝึกตั้งแต่เล็กๆ ได้เปรียบกว่าไปทำตอนโต เมื่อถึงวัยบรรลุศาสนภาวะแล้ว ตอนนั้นก็จะเป็นเรื่องยากเหลือเกิน หากเด็กๆ ทำได้ เค้าจะภาคภูมิใจมากที่ได้ทำได้อย่างผู้ใหญ่ เค้าจะรู้สึกว่าตนเองโตขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น ผู้ปกครองแนะนำด้วยว่า ความสามารถที่ทำได้มาจากเจ้าของชีวิตทั้งนั้น เราไม่สามารถทำได้เอง

และที่สำคัญคนในครอบครัวพร้อมใจช่วยกันเป็นกำลังกาย กำลังใจ สรรหากลเม็ดต่างๆ ดึงดูดให้สนใจอยากถือศีลอดและอยากฝึกให้ดีขึ้นๆ เช่น ผลบุญที่จะได้รับ อาหารถูกใจเมื่อละศีลอด  หากเด็กๆ เค้ายังไม่ค่อยสนใจก็ลองเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ ค่อยทำ ค่อยไป และมอบหมายต่อผู้สร้างเถิด พระองค์จะสร้างทรงช่วยเหลือพวกเราทุกคน))

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บอกเล่าเก้าสิบคิดเห็นอย่างไรมาแบ่งกันเถอะ